เปิดบริษัท ตอน ทุนจดทะเบียน

ขั้นตอนแรกๆ ก่อนที่จะเปิดบริษัท และทำให้มีคำถามเกิดขึ้นทันที นั่นก็คือ “ทุนจดทะเบียน” ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ว่า บริษัทจำกัด มีลักษณะดังนี้

  • ต้องมีผู้ร่วมทุนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป (สมัยก่อน 7 คน เดี๋ยวนี้เหลือ 3 ก็จดได้แล้ว)
  • แบ่งทุนออกเป็นหุ้น หุ้นละเท่าๆกัน (เช่นคิดว่าทุน 1 ล้านบาท อาจจะแบ่งเป็นหุ้นละ 10 บาท 100,000 หุ้น เป็นต้น)
  • ผู้ถือหุ้นรับผิดจำกัดเพียงเงินค่าหุ้นที่ยังส่งไม่ครบ (ถ้าส่งครบหมดแล้ว ก็ไปเอาผิดกับบริษัทอย่างเดียว)
  • มูลค่าของหุ้นๆ หนึ่งนั้น ต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท
  • หุ้นนั้นแบ่งแยกไม่ได้

จะเห็นได้ว่า ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ แค่ 15 บาท (3 คน คนละ 5 บาท) ก็จดทะเบียนบริษัทได้แล้ว โว้… แต่บริษัทที่ทุนจดทะเบียน 15 บาท ใครจะไปทำธุรกิจด้วย เช่นว่า บริษัทสิบห้าบาท (ทุนจดทะเบียน 15 บาท ก็เหมือนคนมีเงินอยู่ 15 บาท) จะไปซื้อของราคา 25 บาท คนขายก็จะไม่อยากขายให้ แบบว่า ไอนี่จะมีปัญญาจ่ายหรอ เป็นต้น

แล้วทุนจดทะเบียน มีผลอะไรกับบริษัทอีกบ้าง?

มันเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ เช่น จะไปรับงานมูลค่า 5 แสนบาท แต่บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท ลูกค้าก็จะเริ่มหวั่นๆ ถ้าหากไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เพราะถ้าเกิดอะไรเสียหายขึ้นมา ลูกค้าฟ้องบริษัท บริษัทมีปัญญารับผิดชอบได้แค่ 1 แสนบาท เป็นต้น

ข้อดีอีกอย่างนึงคือ เป็นความน่าเชื่อถือ เวลาจะไปกู้เงินธนาคาร ธนาคารก็จะดูจากทุนจดทะเบียนด้วย

ทำไมฮิต ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท กันจังเลย?

ก็เพราะว่า ค่าธรรมเนียมตอนจดทะเบียนบริษัท คิดตามอัตราทุนจดทะเบียน ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 5,000 บาท ดังนั้น จะจดทะเบียนบริษัทที่มีทุน 15 บาท หรือ 1 ล้านบาท ก็จ่ายค่าธรรมเนียม 5,000 บาทเท่ากัน เค้าก็เลยจด 1 ล้านกัน เพราะถ้าจดน้อย ๆ ก็ต้องไปเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มทุนเพิ่มอีกในภายหลัง

แปลว่าต้องมีเงินจริง 1 ล้านบาทเลยใช่มั้ย?

ถ้าให้ถูกต้อง ก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว เงินจริงมีไม่ถึง 1 ล้านหรอก เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชี เช่นสมมุติว่า มีเงินจริง 250,000 บาท (กฎหมายกำหนดให้ชำระค่าหุ้น ไม่ต่ำกว่า 25%) แต่ดันไปทำทีว่า “ชำระเต็ม” (ที่รีบๆ จ่ายเต็ม ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องมารับผิดชอบในวันหลัง) อ้าว แล้ว 750,000 หล่ะ ไปอยู่ไหน เค้าก็ทำทีว่า กรรมการกู้เงินบริษัทไป ทีนี้ความซวยจะเริ่มมาเยือนจากกรมสรรพากร เค้าจะถือว่า เงินที่ให้กู้จำนวนนี้ ต้องคิดดอกเบี้ย (โดยปกติก็ดูตามเรทธนาคารทั่วไป) มันก็จะกลายเป็นรายได้ของบริษัทไป ซึ่งทำให้ฐานรายได้ที่จะต้องไปคิดภาษีมากขึ้น (แต่มันก็มีทางหลบเลี่ยงอีกอยู่ดีนั่นแหล่ะ แต่โดนตรวจสอบที ยุ่งแน่)

แล้วทุนจดทะเบียนควรจะเป็นเท่าไหร่ดี?

ในที่นี้หมายถึง ควรจะมีเงินจริงๆ มาจดทะเบียน เท่าไหร่ดี ก่อนอื่นเลย ให้ทำการประมาณการเงินสดรับ-จ่าย (Cashflow Forecast) ไม่ควรน้อยกว่า 24 เดือน แล้วดูว่า เงินสดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนเท่าไหร่ บวก เงินสดสำรองเผื่อฉุกเฉิน ลบ เงินสดที่รับเข้ามาที่บริษัท ในระยะเวลาของงานแต่ละงาน จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินสดที่ขาด ที่ต้องไปหามาให้ได้ในแต่ละเดือน (ถ้ารับมามากกว่าจ่าย ก็สบายไป) เช่น

แต่ละเดือนมีรายจ่าย 1 แสน + เงินสดสำรองเผื่อฉุกเฉิน 1 แสน – เงินสดที่รับ 1 แสน อายุโปรเจ็ค 2 เดือน

เดือนแรก: รายจ่าย 1 แสน + เงินสดสำรอง 1 แสน – เงินสดรับ ยังไม่มี รวมแล้วเท่ากับ 2 แสน

เดือนสอง: รายจ่าย 1 แสน + เงินสดสำรอง 1 แสน – เงินสดรับ 1 แสน รวมแล้วเท่ากับ 1 แสน

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เงินขาดมือไป 3 แสนบาท ดังนั้น ทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมก็คือ 3 แสนบาท

  1. ผมเอาเงินทุนจดทะเบียนมาทำอะไรหรือใช้จ่ายอะไรในบริษัทได้บ้าง นอกจากใช้เป็นตัวสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัท

    ผมสามารถเอามาจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างได้ไหม

    แล้้วผมต้องเปิดบัญชีเฉพาะสำหรับเงินทุนจดทะเบียนนี้หรือไม่

  2. เงินทุนจดทะเบียน ในกรณีที่มีตัวเงินที่เห็นจริงๆ มีอยู่จริงๆ นะ เงินนี้จะเป็นเงินของบริษัท ใช้จ่ายซื้อของในนามบริษัทได้ทุกอย่าง ซื้อโต๊ะตู้ สิ่งของของบริษัท ค่าจ้างให้ซัพพลายเออร์ จ่ายเงินเดือนลูกจ้างก็เงินบริษัท คุณเองก็ได้เงินเดือนจากเงินบริษัทก้อนนี้แหล่ะ

    เงินทุนจดทะเบียน เป็นตัวเลขเอาไว้สำหรับบอกกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เวลาไปจดทะเบียนเป็นบริษัทครับ แต่ตัวเลขของเงินนี้จะมีผลจริงๆ เอาไปใช้จริงๆ กับการทำบัญชีแจ้งสรรพากรมากกว่าครับ สรรพากรก็จะดูว่า ไหนหล่ะเงินของบริษัท มีเท่าไหร่ ใช้จ่ายอะไรยังไง เสียภาษีถูกต้องรึยัง ถ้ายังก็ทำให้ถูกต้องซะนะ ถ้าผิดก็ทำใจโดนปรับไว้เลย

    ต้องเปิดบัญชีเฉพาะสำหรับเงินทุนจดทะเบียนมั้ย?
    คำตอบคือ เปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้ครับ แต่ส่วนมากแล้วจะเปิดบัญชีธนาคาร ในนามบริษัทเอาไว้ เพื่อง่ายสำหรับการทำบัญชีส่งสรรพากร… ตรงนี้ต้องระวัง ถ้าธุรกรรมไม่เยอะ เงินเข้า-เงินออกเดือนนึงไม่กี่ครั้ง ทำเองก็ได้ครับ แต่ถ้าธุรกรรมเยอะๆ ก็จ้างสำนักงานบัญชีไปจะสะดวกกว่าครับ

    ปล. ผมเป็นดีไซเนอร์ ไม่ได้เป็นนักบัญชีบริหารอะไรนะครับ หากมีผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วยครับ

  3. ถ้าเราจดทะเบียน 1 ล้านบาท เค้าบอกว่าควรชำระหุ้น 25 % หมายความว่าเราต้องมีเงินในบัญชี 250,000 บาท ใช่มั๊ยคะ แล้วเงินจำนวนนี้เราต้องจ่ายให้ใครรึเปล่า หรือว่าแค่มีติดบัญชีไว้หมุนเวียน เท่านั้น หรือเป็นเงินที่ต้องเสียไปฟรีๆ ช่วยตอบหน่อยนะคะ

    1. ถ้าเราจดทะเบียน 1 ล้านบาท เค้าบอกว่าควรชำระหุ้น 25 % หมายความว่าเราต้องมีเงินในบัญชี 250,000 บาท ใช่มั๊ยคะ
      – ต้องมีเงินในบัญชี 250,000 บาท ถูกต้องครับ

      แล้วเงินจำนวนนี้เราต้องจ่ายให้ใครรึเปล่า หรือว่าแค่มีติดบัญชีไว้หมุนเวียน เท่านั้น หรือเป็นเงินที่ต้องเสียไปฟรีๆ
      – ติดบัญชีไว้เฉยๆ ครับ เงินจะกลายเป็นเงินของบริษัท เอาไว้ใช้จ่ายในนามบริษัท ซื้อของเข้าบริษัท จ่ายค่าจ้าง ฯลฯ

  4. ขอบคุณ คุณ ibdz มากๆ นะคะ ที่ให้ความรู้
    – กรณีที่น้องชายจะเปิดบริษัท สามารถนำบัญชีของพี่สาวไปแสดงได้ไหมค่ะ หรือว่าต้องย้ายมาใส่และเปิดเป็นบัญชีในนามบริษัท
    – เงินจำนวนดังกล่าว เมื่อทำบัญี ควรมีติดบริษัทไว้ 25% ของทุนจดทะเบียน ใช่ไหมคะ
    – เวลาที่เราจะจดวัตถุประสงค์เนี่ย เราต้องใส่ให้ครอบคลุมธุรกิจทั้งหมดใช่ไหมคะ เช่น ซื้อขายเคมีภัณฑ์ (แล้วต้องระบุรึเปล่าว่าประเภทไหน) หรือ ซื้อขายโลหะ (ทองแดง ดีบุก ทองเหลือง)
    – แล้ว ถ้าเปิดเป็นบริษัทนี่เราต้องออกบิล vat ทุกบิลรึเปล่า กรณีลูกค้าบางรายไม่ต้องการ vat เราจะทำอย่างไรได้บ้างค่ะ
    – กรณีลูกค้าให้เราเปิดบิลเงินสดนี่ เราต้องเสียภาษีรึเปล่าคะ
    – กรณ้ vat 7% ที่เราเสียไปจากการซื้อของมาจาก supplier เราสามารถเรียกคืนได้ทั้งหมดเหมือนการหักภาษี ณ ที่จ่าย รึเปล่า ค่ะ (ถ้ากรณีหักลบรายจ่ายแล้ว ไม่ต้องเสียภาษี)
    – ค่าใช้จ่ายในบริษัทสามารถนำมาหักได้ กี่ % คะ แล้วบางคน บอกว่าเตรียมไว้เลย กำไรที่ได้จากการขายสมมติ ว่าได้กำไร 100 บาท ต้องเสียเป็นภาษีแน่ๆ 30 บาท หรือขึ้นอยู่กับว่า บริษัทเรามีรายได้ที่ควรเสียภาษีเท่าไหร่หลังหักค่าใช่จ่าย ถึงเสียเท่านั้น และอาจจะไม่เสียภาษีก็ได้
    – กรณีเราเปิดบริษัท ควรจ้างคนทำบัญชีที่สามารถเซ็นต์ได้ใช่ไหมคะ
    – ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักภาษีทั้งหมด ควรมีใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายใช่ไหมคะ หรือแค่บิลเงินสด ก็สามารถใช้ได้
    – ถ้าเราจดไว้ 1 ล้าน แล้วเวลาผ่านไปไรขายได้กำไรปึนึงสัก 3 ล้าน เราควรไปจดเพิ่มไหมค่ะ ถ้ายังไม่จดเพิ่มจะมีอะไรรึเปล่า
    – กรณีที่เค้าบอกว่าเปิดเป็นร้านค้านี่ต้องเสียภาษีรึเปล่าค่ะ แล้วถ้าลูกค้าเราเป็นบริษัท ต้องการเอาบิลไปเบิกค่าใช้จ่ายบริษัท เราจะเปิดบิลให้ลูกค้าได้ยังไง

    ช่วยหน่อยนะคะ ครั้งนี้ถามเยอะไปหน่อย พอดีเป็นมือใหม่ยังไม่ค่อยทราบอะไร

    1. ขออนุญาตตอบคุณ ple ตามที่ผมจะสามารถตอบได้นะครับ

      – กรณีที่น้องชายจะเปิดบริษัท สามารถนำบัญชีของพี่สาวไปแสดงได้ไหมค่ะ หรือว่าต้องย้ายมาใส่และเปิดเป็นบัญชีในนามบริษัท
      >> เปิดบัญชีบริษัท แล้วย้ายเงินมาใส่ ถึงจะถูกต้องชัดเจนครับ

      – เงินจำนวนดังกล่าว เมื่อทำบัญชี ควรมีติดบริษัทไว้ 25% ของทุนจดทะเบียน ใช่ไหมคะ
      >> สมมุติว่าทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ก็ควรจะมีเงินจริงๆ ที่เก็บจากหุ้นส่วนรวมมาให้ได้ 250,000 บาทครับ (แต่ส่วนมากก็มีเงินจริงไม่ถึงหรอก อาศัยวิธีทางบัญชีในการทำตัวเลข แต่ผมแนะนำให้ทำให้ถูกต้องดีกว่าครับ จะได้ไม่ปวดหัวทีหลัง)

      – เวลาที่เราจะจดวัตถุประสงค์เนี่ย เราต้องใส่ให้ครอบคลุมธุรกิจทั้งหมดใช่ไหมคะ เช่น ซื้อขายเคมีภัณฑ์ (แล้วต้องระบุรึเปล่าว่าประเภทไหน) หรือ ซื้อขายโลหะ (ทองแดง ดีบุก ทองเหลือง)
      >> อันนี้สอบถามกับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ดีกว่าครับ (http://www.dbd.go.th)

      – แล้ว ถ้าเปิดเป็นบริษัทนี่เราต้องออกบิล vat ทุกบิลรึเปล่า กรณีลูกค้าบางรายไม่ต้องการ vat เราจะทำอย่างไรได้บ้างค่ะ
      >> ต้องออกทุกครั้งครับ ในกรณีที่บริษัทมีรายรับยังไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ยังไม่ต้องจด VAT ได้ครับ แต่ถ้าเกินต้องจด และต้องออกทุกครั้งครับ ในกรณีที่ไม่บวก VAT นี่ต้องเล่นกลทางบัญชีเล็กน้อยครับ หรือไม่เราก็ต้องรับผิดชอบออก VAT ให้ลูกค้าแทน อันนี้แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางบัญชีครับ (ผมเองไม่สามารถตอบได้)

      – กรณีลูกค้าให้เราเปิดบิลเงินสดนี่ เราต้องเสียภาษีรึเปล่าคะ
      >> ขึ้นอยู่กับว่า เราลงในบัญชียังไงครับ ถ้าขายเงินสดก็สามารถหลีกเลี่ยงให้รายรับน้อยลงได้ เพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อยลง แต่ต้องระวังเรื่อง stock ครับ สรรพากรอาจจะสงสัยหรือสอบถามได้ว่าซื้อมาเท่านี้ สินค้าหายไปไหน อะไรประมาณนี้ครับ

      – กรณ้ vat 7% ที่เราเสียไปจากการซื้อของมาจาก supplier เราสามารถเรียกคืนได้ทั้งหมดเหมือนการหักภาษี ณ ที่จ่าย รึเปล่า ค่ะ (ถ้ากรณีหักลบรายจ่ายแล้ว ไม่ต้องเสียภาษี)
      >> ได้ครับ แต่ต้องมีหลักฐานในกำกับภาษีครบถ้วน ถูกต้องนะครับ

      – ค่าใช้จ่ายในบริษัทสามารถนำมาหักได้ กี่ % คะ แล้วบางคน บอกว่าเตรียมไว้เลย กำไรที่ได้จากการขายสมมติ ว่าได้กำไร 100 บาท ต้องเสียเป็นภาษีแน่ๆ 30 บาท หรือขึ้นอยู่กับว่า บริษัทเรามีรายได้ที่ควรเสียภาษีเท่าไหร่หลังหักค่าใช่จ่าย ถึงเสียเท่านั้น และอาจจะไม่เสียภาษีก็ได้
      >> ค่าใช้จ่ายที่นำมาหักได้ แนะนำให้ดูที่เว็บของกรมสรรพากรครับ (http://www.rd.go.th) ส่วนอัตรภาษีของบริษัท ก็คือ 30% ครับ โดยคิดจากกำไรสุทธิครับ แต่จะมีกรณีพิเศษคือ ขอเป็นธุรกิจ SMEs ครับ จะมีอัตราภาษีสำหรับ SMEs แต่ถ้ายังไงกำไรสุทธิเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องเสีย 30% หมดครับ

      – กรณีเราเปิดบริษัท ควรจ้างคนทำบัญชีที่สามารถเซ็นต์ได้ใช่ไหมคะ
      >> ใช่ครับ

      – ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักภาษีทั้งหมด ควรมีใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายใช่ไหมคะ หรือแค่บิลเงินสด ก็สามารถใช้ได้
      >> ควรมีใบกำกับภาษีและเป็นชื่อบริษัทด้วยครับ

      – ถ้าเราจดไว้ 1 ล้าน แล้วเวลาผ่านไปไรขายได้กำไรปึนึงสัก 3 ล้าน เราควรไปจดเพิ่มไหมค่ะ ถ้ายังไม่จดเพิ่มจะมีอะไรรึเปล่า
      >> การเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน อย่างที่บอกครับ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัท ให้มีเครดิตมากขึ้นครับ แต่ความรับผิดชอบก็มากขึ้นตามนะครับ

      – กรณีที่เค้าบอกว่าเปิดเป็นร้านค้านี่ต้องเสียภาษีรึเปล่าค่ะ แล้วถ้าลูกค้าเราเป็นบริษัท ต้องการเอาบิลไปเบิกค่าใช้จ่ายบริษัท เราจะเปิดบิลให้ลูกค้าได้ยังไง
      >> ข้อนี้ผมไม่สามารถตอบได้จริงๆ ครับ

      ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางบัญชีหรือกฎหมายนะครับ ผมเป็นดีไซเนอร์ หากมีผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วยครับ
      หากสงสัยประการใด สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร หรือ เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยตรง ก่อนเริ่มกิจการจะดีกว่าครับ
      หรือสมัครเข้าอบรมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการ ของที่ต่างๆ จัด จะดีมากครับ http://nec.dip.go.th/

  5. ขอบคุณ คุณ ibdz มากๆ ด้วยใจจริง นะคะ สำหรับคำแนะนำที่ดี

  6. ขอบคุณค่ะ คุณ IDBIZ และผู้โพสท์กระทู้ ได้ความรู้มากค่ะ

  7. คุณ idbiz

    1. รบกวนสอบถามข้อมูลอีกนิดนึงนะคะ ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คนสามารถเป็นคนในครอบครัวทั้ง 3 คนได้หรือไม่คะ เช่น พ่อ แม่ ลูก (ขอบคุณค่ะ)

    2. กรรมการกับผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันกับผู้ถือหุ้นได้หรือไม่คะ? (ขอบคุณค่ะ)

  8. 1. รบกวนสอบถามข้อมูลอีกนิดนึงนะคะ ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คนสามารถเป็นคนในครอบครัวทั้ง 3 คนได้หรือไม่คะ เช่น พ่อ แม่ ลูก (ขอบคุณค่ะ)
    >> ได้ครับ

    2. กรรมการกับผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันกับผู้ถือหุ้นได้หรือไม่คะ? (ขอบคุณค่ะ)
    >> จะเป็นคนเดียวกันหรือไม่ก็ได้ครับ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่จะเป็นคนแต่งตั้งกรรมการบริษัทขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารบริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นก็เหมือนเป็นเจ้าของกิจการครับ

  9. ขอบคุณมากๆค่ะ ได้วามรู้เยอะเลย

  10. ถ้าทุนจดทะเบียน 1 ล้าน ต้องมีเงินจริง 250,000 ใช่ไหมครับ ถ้าไม่มีเลย นี่ก็จดไม่ได้เหรอครับ
    แล้วถ้ายืมเงินคนอื่นมาใช้ แล้วต้องทิ้งเงินไว้อย่างนั้นหรือเปล่าครับ จะเอาออกไปได้ไหมครับ ขอบคุณครับ

    1. >> ถ้าทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ก็ควรจะมีเงินจริงๆ ที่เก็บจากหุ้นส่วนรวมมาให้ได้ 250,000 บาทครับ (แต่ส่วนมากก็มีเงินจริงไม่ถึงหรอก อาศัยวิธีทางบัญชีในการทำตัวเลข แต่ผมแนะนำให้ทำให้ถูกต้องดีกว่าครับ จะได้ไม่ปวดหัวทีหลัง) ไม่มีเลยก็จดได้ครับ แต่จะเจอปัญหาเรื่องบัญชีตามมาทีหลัง อันนี้ต้องปรึกษาพวกสำนักงานบัญชีดูครับ

      >> เอาเงินออกไปได้ครับ แต่ว่าก็จะปวดหัวกับการทำบัญชีอีกนั่นแหละครับ

  11. ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆแบบนี้ มีประโยชน์มากครับ ทำให้ผมมีความรู้เพิ่มขึ้นอีกนิด

  12. ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ชำระแล้วตามกฏหมายไม่ต่ำกว่า 25% คือ 250,000 บาท แล้วเงินที่เหลืออีก 750,000 บาท จะลงบัญชียังไงคับ

  13. แล้วมีกำหนดหรือไม่ว่าต้องชำระภายในเท่าไหร่ให้เต็มจำนวนที่เหลืออีก 750,000 บาท

  14. จะสอบถามเพิ่มด้วยว่า. เกิดเราจดไปแล้วว่าชำระ 25% ของทุน. ตอนหลัง เงินไม่พอใช้. จะให้ชำระเพิ่มอีก 25% ทำอย่างไรดี. รบกวนช่วยตอบให้ด้วย

    ขอบคุณมากเลย
    ธัญวรัตน์

  15. ตอบ คุณธัญวัตน์ (ขอแบ่งปันนะครับ)
    การเรียกชำระค่าหุ้นครั้งต่อไป ที่เหลืออีก 75% จะแบ่งเรียกอีกกี่ครั้งก็ได้ ครั้งละเท่าไรก็ได้
    กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระอีกเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ เช่น เรียกอีก 5% หรือ 10% หรือ 15%
    และจะเรียกให้ชำระเมื่อไรก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1120) โดยการเรียกชำระค่าหุ้นในแต่ครั้งนั้นให้ส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์บอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 21 วัน ว่าบริษัทเรียกชำระค่าหุ้นอีกเป็นจำนวนเท่าไร ให้ส่งชำระค่าหุ้นกับใคร ที่ไหน เวลาใด (ป.พ.พ. มาตรา 1121)
    เมื่อมีการชำระค่าหุ้นเพิ่มแล้ว ให้บริษัททำ บอจ. 5 ฉบับใหม่ (เปลี่ยนจำนวนเงินค่าหุ้นที่เรียกชำระ) พร้อมกับทำหนังสือนำส่ง บอจ. 5 ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเป็นหลักฐานให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ (การนำส่งบอจ. 5 ไม่ต้องจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นใหญ่) แต่หากเป็นการนำส่งบอจ. 5 พร้อมงบการเงินก็ไม่ต้องมีหนังสือนำส่ง (ไม่ต้องรอนำส่งพร้อมงบการเงิน)

  16. ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้ขึ้นเยอะเลย

  17. ตอนจดทะเบียนผมใช้เงินทุน 1 ล้านบาท(เงินมีอยู่จริง) หลังจดทะเบียนแล้ว ผมสามารถนำเงินนี้ไปใช้ในธุรกิจอื่นได้หรือไม่ โดยธุรกิจที่ทำจดทะเบียนร่วมกับแฟน ตั้งใจจะเอาเงินบางส่วนไปลงทุนต่อในอีกธุรกิจนึง ยังไงรบกวนตอบด้วยนะครับ

  18. ผมไม่ได้เก่งหรอกนะ แต่ขอบอกว่าให้ทำ ตรงไปตรงมานะ และค่าใช้จ่ายทุกอย่างมีจุดประสงค์ทางธุรกิจก็ใช้ได้

  19. ถ้าซื้อของเงินสด เขาไม่ดูทุนจดทะเบียนหรอก ยกเว้นขอเครดิตเยอะๆ

Leave a Reply to พี Cancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Up Next:

เพลงที่ผองเพื่อนนิยมกัน

เพลงที่ผองเพื่อนนิยมกัน